FIGHT NEWS

มองต่างมุม ทัศนะ มวยเด็ก ควรยกเลิกหรือมีต่อไป

18.11.2018


ขอบคุณรูปภาพจาก pinterest

จากกระแสการเสียชีวิตของ เพชรมงคล ส.วิไลทอง หรือ น้องเล็ก เด็กชายวัย 13 ขวบ ที่เสียชีวิตหลังจากขึ้นชกกับคู่ต่อสู้และถูกน็อกในยกที่ 3 ก่อนจะถูกนำตัวไปส่งโรงพยาบาลแต่พบว่าศรีษะกระทบกระเทือนรุนแรง จากนั้นจึงเสียชีวิตจากอาการเลือดคั่งในสมอง เป็นเหตุให้กระแสสังคมต่างจับจ้องมาที่การแข่งขันมวยไทย ที่อนุญาติให้นักมวยเด็กขึ้นชกตั้งแต่อายุยังน้อย ว่าควรจะมีต่อไปหรือไม่ โดยในกรณีของน้องเล็กนั้นชกตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ถึง 13 ปี ต่อยมาสูงถึง 170 ไฟท์ ตกเดือนละ 3 ไฟท์เลยทีเดียว แต่หากจะเปรียบเทียบกับนักมวยสากลอาชีพนั้น ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ขึ้นชกจนแขวนนวมในวัยเกือบ 40 ปี เขาขึ้นชกมวยอาชีพไปทั้งหมดเพียงแค่ 50 ไฟต์เท่านั้น

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสนอ พระราชบัญญัติกีฬามวย (พ.ร.บ. มวย) ฉบับแก้ไขใหม่

ในช่วงเวลาเดียวกันทาง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดย พล.อ. อดุลยเดช อินทะพงษ์ สมาชิก สนช. พร้อมคณะรวม 33 คน ร่วมกันเสนอร่าง พระราชบัญญัติกีฬามวย (พ.ร.บ. มวย) ฉบับแก้ไขใหม่ เพื่อใช้แทน พ.ร.บ. มวย ฉบับปี พ.ศ. 2542

ซึ่งมาตรา 14 ในฉบับร่างแก้ไขใหม่นั้น ระบุว่า

‘ในการแข่งขันกีฬามวยอาชีพ ห้ามมิให้ผู้จัดรายการแข่งขันกีฬามวย และนายสนามมวยอนุญาตให้เด็กมีอายุต่ำกว่า 15 ปีเข้าร่วมแข่งขัน และการอนุญาตต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน แต่เด็กนั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 12 ปี และการจัดการแข่งขันต้องมีเครื่องป้องกันอันตรายและกฎกติกาที่เหมาะสม’

คนวงการมวยคัดค้าน ตัดอนาคต และ อาชีพ ของเด็ก


รูปภาพจาก เพชรยินดี โปรโมชั่น

ในขณะเดียวกัน ฝั่งวงการมวยไทยอาชีพ ต่างออกมาตัดค้าน กฏที่ห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีขึ้นชก มองว่าการออกกฏแบบนี้จะทำให้นักมวยเด็กไม่มีโอกาสได้พัฒนาฝีมือตั้งแต่ยังเด็ก รวมถึงการหารายได้ของเด็กที่จะช่วยเหลือครอบครัว โดยบอกว่ามันไม่ต่างจากการห้ามนักเตะเยาวชนอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ให้เล่นฟุตบอล

โดยเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย ได้จัดงานรวมตัวบุคคลวงการมวยหลายฝ่าย มาร่วมหารือถึงการต่อต้าน การเสนอแก้ไข พ.ร.บ. มวยฉบับใหม่ และ วันที่ 14 พฤศจิกายน สมาคมกีฬามวยไทยนายขนมต้ม นำโดย นายทวี อัมพรมหา เลขาธิการสมาคม ได้ตั้งโต๊ะแถลงไม่เห็นด้วย และยืนยันการคัดค้านกฎหมายมวยไทยที่ห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีขึ้นชก

ทวี อัมพรมหา ให้เหตุผลว่า “โศกนาฏกรรมดังกล่าวถือเป็นเรื่องน่าเศร้า เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องมองให้ลึกลงไปในรายละเอียด สิ่งที่เกิดขึ้น ต้องมองถึงปัจจัยในหลายๆด้าน กรรมการผู้ทำหน้าที่บนเวทีทันต่อเกมหรือไม่ มีแพทย์สนามข้างเวทีที่ดีหรือเปล่า และเวทีนั้น เป็นมาตรฐานแค่ไหน รวมไปถึงการจัดประกบคู่มวย เราต้องวิเคราะห์ในหลายๆประเด็นเพื่อดูที่มาของสาเหตุ”

มวยเด็กกับเด็กชกกัน หากอายุน้ำหนักตัวเท่ากัน ผมยังเชื่อว่า ไม่อันตรายหรอก แม้กระทั่งเด็กผู้หญิงก็ยังชกกับเด็กผู้ชายได้เลย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพวกผู้ใหญ่เห็นแก่ตัวเหล่านี้แหละ ที่ทำให้เกิดปัญหา เราต้องเอาใจใส่ให้มากกว่านี้ ไม่ใช่แต่จะเอาผลประโยชน์ ความได้เปรียบของตัวเองเป็นหลัก วงการมวยก็เจ๊งกันหมดเพราะแบบนี้ ยิ่งในปัจจุบันเขาใช้ วิทยศาสตร์การกีฬาเข้าช่วย แต่ค่ายมวย บางแห่ง ยังโบราณอยู่เลย อย่างเช่น ฝึกให้นักมวยคาบดัมเบล ด้วยความเชื่อจะทำให้กรามแข็งแรง หรือ เอาเป้าทุบหน้าท้องนักมวยแรงๆ ผมว่า มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกหลัก หรือการที่ ผู้ใหญ่ปล้ำกับมวยเด็ก แล้วกระชากคอแรงๆให้ล้มกลิ้งล้มหงาย แบบนั้นไม่ใช่การฝึกที่ถูกวิธีหรอก ยิ่งถ้าเรานำเอา วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วย นักมวยจะมีสุขภาพ ร่างกาย ที่ดีกว่านี้ และไม่ประสบอุบัติเหตุถึงเสียชีวิต อย่างที่เราได้เห็นกัน

อีกทั้งยังมีเรื่องรายได้ ที่เด็กๆจะได้ช่วยเหลือครอบครัว แต่ทั้งนั้นนายทวีก็กล่าวว่า

“ถ้าเขาเลือกได้และมีเงินนะครับ ลูกผมในวันนี้ที่ผมมีรายได้แล้ว ผมก็ไม่ให้ลูกผมชกมวย แต่ถ้าลูกอยากชกก็ค่อยว่ากัน แต่ไปบังคับผมไม่ทำ เพราะมีกีฬาอย่างอื่นที่เลือกได้ แต่สำหรับพวกผมเนี่ย ผมกล้าพูดเลยว่าไม่มีใครสามารถเลือกเล่นกีฬาได้

สมรักษ์ คำสิงห์ ร่วมต้านการไม่ให้เด็กอายุไม่ถึง 12 ขวบชกมวย

สมรักษ์ คำสิงห์ อดีตนักชกเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ ยอดนักมวยไทย ก็ออกมาคัดค้านการแก้ไขพระราชบัญญัติกีฬามวย โดยกล่าวว่า
"ผมคัดค้านแน่นอน เพราะมวยไทยเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ สมัยก่อนอายุ 7 ขวบก็ชกกันแล้ว กรณีที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นอุบัติเหตุ หรือน้องอาจจะไม่สบายอยู่หรือเปล่า ต้องไปเช็กอย่างละเอียด หากลองไปย้อนดูว่าในรอบ 100 ปี มีเกิดเหคุแบบนี้กี่ครั้ง โดยไม่ควรห้ามให้เด็กชกมวย แต่ควรเพิ่มเรื่องความเข้มงวดในการใช้กฏหมายเดิมให้จริงจังมากขึ้น เช่นการใช้นวม 10 OZ และ การพักให้ครบ 21 วัน เป็นต้น"

แพทย์ชี้มวยเด็ก "กระทบสมอง" หากถูกกระทบที่ศรีษะ

ขณะเดียวกันทีมแพทย์ที่ศึกษาด้านนี้ ก็ออกมาแสดงผลวิจัยต่างๆ ที่แสดงว่าหากมีการกระทบที่ศรีษะ จะทำให้ สมองเกิดผลกระทบ แน่นอน

นายแพทย์วิทยา สังขรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับสมองของนักมวย ระบุว่า แม้ผลการวิจัยจะบอกว่าการเจริญเติบโตสมองซีกซ้ายซีกขวาและปฏิพานไหวพริบของนักมวยจะดีกว่าคนทั่วไป แต่ระยะยาวไอคิว และความจำของนักมวยจะแย่กว่าคนปกติ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเรียนต่อมหาวิทยาลัยในอนาคตได้ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ต้องไม่ให้การชกมวย ไปโดนที่ศีรษะของเด็กโดยตรง

ขณะที่ ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ หัวหน้าโครงการวิจัยและติดตามกลุ่มนักมวยเด็ก เปิดเผยผลการศึกษาสมองนักมวยเด็กที่เสียชีวิตไว้ว่า

“เกิดจากอาการบาดเจ็บรุนแรงเฉียบพลันที่สมอง เพราะว่าเด็กถูกต่อยที่ใบหน้าและศีรษะหลายครั้ง ทำให้สมองมีเลือดออก ซึ่งในส่วนใหญ่แล้ว การชกมวย จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บสะสมมากกว่าการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน และสมองของเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปียังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จึงเชื่อว่าอาการบาดเจ็บเหล่านี้มีผลต่อการดำรงชีวิตในอนาคต”

ยูนิเซฟ สนับสนุนรัฐบาลไทยเร่งออกกฎหมายเพื่อ "ปกป้องประโยชน์สูงสุดของเด็ก"

ขณะที่ทาง องค์การยูนิเซฟ ได้แสดงความเสียใจผ่านทางทวิตเตอร์โดยได้โพสว่า

องค์การยูนิเซฟขอแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียของครอบครัวของน้องอนุชา และขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายให้ออกกฎหมายที่จะช่วยปกป้องประโยชน์สูงสุดของเด็ก เราต้องมองว่าพวกเขาเป็นเด็ก มากกว่าจะเป็นนักมวย

ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าการแก้ไข พระราชบัญญัติกีฬามวย (พ.ร.บ. มวย) จะเป็นไปอย่างไร และ สุดท้ายวงการมวยไทย จะก้าวไปในทางใด ก็ติดตามกันต่อไปนะครับ

Comment