FIGHT & MARTIAL ARTS

ศิลปะการต่อสู้ ไม่ใช่ ความรุนแรง แต่ช่วยสร้างจิตใจให้รู้จักโอบอ้อมอารี

07.06.2019

เมื่อพูดถึงศิลปะการต่อสู้ และการป้องกันตัว หลายคนมักจะมองว่าเป็นวิชาที่ใช้ความรุนแรงเป็นหลัก เหมาะสำหรับคนตัวใหญ่ แข็งแรงเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ทุกๆ คนสามารถฝึกศิลปะการต่อสู้ได้เพียงแค่เราต้องเรียนรู้อย่างถูกวิธี ที่สำคัญศิลปะการต่อสู้สามารถพัฒนาและต่อยอดให้ผู้ที่เรียนรู้นำเอาไปใช้เพื่อเป็นการป้องกันตัวได้อีกด้วย การป้องกันตัวเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเรียนรู้กันได้ แต่ละประเทศเองก็จะมีทักษะการป้องกันตัวพื้นฐานที่แตกต่างกันไป เช่น ประเทศไทยของเรามี มวยไทย เป็นศิลปะป้องกันตัวประจำชาติ เทควันโด ของประเทศเกาหลี ไอคิโด้ ของประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการแสดงออกถึงวัฒนธรรม เทคนิคในการใช้ศิลปะอันสวยงามของการปกป้องตนเองจากอันตราย นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของคนในประเทศนั้นๆ อีกด้วย

ศิลปะการต่อสู้ และศิลปะป้องกันตัวเป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์ ที่เป็นศาสตร์ คือ เป็นวิชาที่ได้รับการพัฒนาและสืบทอดต่อๆ กันมา เพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกันตัว ปกป้องคนที่รักหรือปกป้องประเทศชาติ และเป็นศิลป์ คือต้องนำศาสตร์ความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้พลิกแพลงให้เข้ากับสถานการณ์ทั้งในการต่อสู้ และการดำเนินชีวิต

ความแตกต่างระหว่างศิลปะการต่อสู้ และ ศิลปะป้องกันตัว
วิชา ศิลปะการต่อสู้ ส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้ในการต่อสู้หรือการแข่งขันเพื่อชิงความเป็นที่หนึ่ง ดังนั้นเทคนิคต่างๆ ล้วนแต่เป็นการต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงแทบทั้งสิ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมีที่ฝึกฝนก็ต้องมีสมรรถภาพทางร่างกายที่แข็งแกร่ง เพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพของตนให้เอาชนะคู่ต่อสู้ได้ แต่ ศิลปะป้องกันตัว เป็นการพัฒนามาเพื่อใช้ในการป้องกันตัวที่แท้จริง หลักการก็คือ เล็กชนะใหญ่ อ่อนชนะแข็ง หมายความว่า ผู้ที่อ่อนแอกว่าก็สามารถเอาชนะผู้ที่แข็งแกร่งได้ หัวใจสำคัญในการศึกษาวิชานี้คือ เน้นความเข้าใจโครงสร้างของร่างกายและจิตใจ เน้นการใช้กระบวนท่า เทคนิค และการใช้ร่างกายให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ถ้ามองกันอย่างลึกซึ้งแล้ว จะเข้าใจได้ว่า ศิลปะป้องกันตัวและศิลปะการต่อสู้ จึงไม่ใช่วิชาที่รุนแรง หากแต่เป็นทั้ง ศาสตร์ และ ศิลป์ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีประวัติสืบทอดกันมายาวนาน ประเทศชาติบางประเทศสามารถเป็นเอกราชได้เพราะมีศิลปะการต่อสู้ของชาติ แต่ที่พวกเราติดภาพความรุนแรงของศิลปะการต่อสู้มาเพราะการแสดงออกของบุคคลต่างๆที่อาจใช้ไปในทางที่ผิด

ศิลปะการต่อสู้มักแฝงด้วยปรัชญา ยืดหยุ่น และละเอียดอ่อนด้วยท่วงท่าที่สวยงาม ลองสังเกตง่ายๆ จาก มวยไทย ศิลปะการต่อสู้ของบ้านเราจะมีท่าการไหว้ครูที่นักมวยต้องร่ายรำด้วยความอ่อนช้อย สวยงาม ท่าเตะ ศอก ต่างๆ ที่จะมีชื่อเรียกให้พอคุ้นหู เช่น หนุมานถวายแหวน หักงวงไอยรา จระเข้ฟาดหาง เป็นต้น เนื่องจากมีท่วงท่าการต่อสู้ให้ฝึกฝนมาก จึงเป็นการมุ่งเน้นการฝึกจิตให้เป็นสมาธิจดจ่ออยู่กับวิถีการเคลื่อนไหว จากการศึกษาวิจัยเป็นที่ยอมรับกันว่า ผู้ที่ฝึกศิลปะการต่อสู้เป็นประจำ จะทำให้มีสมาธิดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเพราะ ฮอร์โมน Endorphins หลั่งออกมา และ ฮอร์โมนความเครียด Adrenaline ที่ต่อมหมวกไตก็จะหยุดการหลั่ง ช่วยทำให้มีสมาธิและมีความทรงความจำดีขึ้น แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาหลังจากการฝึกหนักทั้งหลายนั้น ย่อมทำให้ร่างกายของเราแข็งแรงขึ้นด้วย

ศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัวสามารถปลูกฝังมารยาทและศีลธรรม
การเรียนศิลปะการต่อสู้ทุกคนจะต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน จุดสำคัญคือต้องเคารพกติกา มีมารยาท มีระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ศิษย์อาจารย์จึงเป็นการปลูกฝังให้ผู้เรียนนั้นรู้จักมารยาทและมีความเคารพต่อผู้ที่อาวุโสกว่า เมื่อไปอยู่ในสังคมสิ่งนี้ก็จะช่วยหล่อหลอมมารยาทและความประพฤติให้รู้จักเคารพซึ่งกันและกัน


Comment