FIGHT & MARTIAL ARTS

เกร็ดกีฬาบราซิลเลี่ยนยิวยึตสู ตอนที่ 13 ความแตกต่างกันของกติกาในแต่ละรายการ กับ รูปแบบการเล่นของนักกีฬา

09.10.2017

เกร็ดกีฬาบราซิลเลี่ยนยิวยึตสู ตอนที่ 13 ความแตกต่างกันของกติกาในแต่ละรายการ กับ รูปแบบการเล่นของนักกีฬา

สวัสดีครับ ห่างหายกันไปซักพักเนื่องจากแอดมินติดงานประจำครับ วันนี้เราจะกลับมากับควันหลงของ ADCC 2017 World Championship กันครับ เนื่องจากมีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ กันในเรื่องของกติกาซึ่งหลายๆท่านอาจไม่คุ้นเคยกัน วันนี้แอดมินจึงใคร่ขอนำเสนอ ความแตกต่างใน กติกาของรายการ ADCC, IBJJF และ รายการอื่นๆครับ

แต่จะให้มาบอกกฎกติกากันแบบละเอียดก็คงไม่ไหว เพราะรายละเอียดยิบย่อยมันเยอะมาก ก็เอาเป็นว่าคร่าวๆ แบบพอดูรู้เรื่องแล้วกัน ก่อนอื่นผมก็จะขอเปรียบเทียบกับรายการใหญ่ๆ 2 รายการก่อนนะครับ ซึ่งรายการใหญ่ๆ และได้รับความนิยมสูง ก็จะมีอยู่สองรายการ คือ  IBJJF ซึ่งเป็นของตระกูลเกรซี่ ซึ่งมีการแข่งขันทั้งรูปแบบ กิ และ โนกิ และ ADCC ซึ่งเป็นของ Abu Dhabi ที่จะเน้นแค่การแข่งขันแบบ โนกิ เท่านั้น

1. รูปแบบการให้คะแนน

IBJJF
- 4 คะแนน จาก Mount (ขึ้นคร่อม), Back Mount (คร่อมด้านหลัง), Back Control (ได้ตำแหน่งหลังโดยมีขาเกี่ยว)
- 3 คะแนน จาก Pass Guard (การผ่านการ์ด)
- 2 คะแนน Sweep (การสลับตำแหน่งล่างขึ้นบน จากการ์ดต่างๆเท่านั้น), Knee on belly (เข่าทับท้อง), Take down (ทุ่มหรือรวบคู่ต่อสู้ลงพื้น)

นอกจากนั้น IBJJF ยังมีการให้คะแนน Advantage ซึ่งผมชอบเรียกให้ง่ายต่อความเข้าใจว่า "แต้มขยัน" ซึ่งจะได้จากการ "พยายาม" เทคดาวน์, Sweep, ผ่านการ์ด หรือ ซับมิชชั่นแล้วไม่สำเร็จ ก็จะได้แต้มขยันนี้มา ซึ่งจะมีผลนำมาใช้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่าย ไม่สามารถ ซับมิชชั่นได้ และมีคะแนนเท่ากัน จนหมดเวลา ผู้ที่มีคะแนน advantage ก็จะเป็นผู้ชนะ ซึ่งตรงนี้ บางรายการมองว่าระบบนี้มันยุ่งยากต่อการให้คะแนนจึงไม่นิยมนำมาใช้

ADCC
- 4 คะแนน จาก Clean Sweep (หลังจาก sweep แล้วไม่อยู่ในการ์ด), Clean Take down (หลังจาก take down แล้วไม่อยู่ในการ์ด)
- 3 คะแนน จาก Guard Pass (การผ่านการ์ด), Back Mount with hooks (ได้ตำแหน่งหลังและมีขาเกี่ยว)
- 2 คะแนน จาก Knee on Stomach (เข่าทับท้อง), Mount (ขึ้นคร่อม), Take Down or Sweep end up in guard or half guard (Take down หรือ Sweep แต่ไปอยู่ในการ์ด หรือฮาล์ฟการ์ด)
***Reversal (การสลับตำแหน่งจากล่างขึ้นบนโดยไม่มีการ์ด เช่นพลิกขึ้นจากการโดนคร่อม) ก็จะถือเป็นการ sweep และจะได้คะแนนด้วย ซึ่งตรงนี้ต่างจาก IBJJF

ส่วนระบบการให้คะแนนของ ADCC นั้นจะเริ่มให้คะแนนหลังจากเวลาของแมทช์นั้นผ่านไปครึ่งนึงแล้ว เช่น 10 นาทีก็จะเริ่มให้คะแนนตั้งแต่นาทีที่ 5 เป็นต้นไป แต่ถ้าหมดเวลาแล้วคะแนนเท่ากันก็จะต่อเวลาเพิ่มอีก 5 นาที

ทั้ง IBJJF และ ADCC นั้นมีคะแนน Penalty หรือ Negative ทั้งคู่ ในกรณีที่นักกีฬาทำผิดกติการ แต่ไม่รุนแรงจนถึงขั้นปรับแพ้
ส่วนระบบการให้คะแนนของสถาบันอื่นๆก็จะแตกต่างกันออกไปเช่น
- Dumau จะใช้กติกาเหมือน IBJJF แต่ไม่มีคะแนน advantage ถ้าเสมอก็ให้ต่อเวลาจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายนึงจะได้คะแนนก่อน (sudden death)
- EBI แข่ง 20 นาที ไม่มีคะแนน เอาชนะกันด้วยท่าซับมิชชั่นเท่านั้น


2. เทคนิคที่ใช้ได้ และห้ามใช้

IBJJF
- จะอนุญาติเทคนิค การล็อคทั่วไป เช่น รัดคอ ไหล่ ศอก ข้อมือ หัวเข่า ข้อเท้า ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละระดับสายแต่ละสีด้วย เช่นสายฟ้า จะหักข้อเท้าได้แค่ แบบตรงเท่านั้น จะทำ knee bar, toe hold ไม่ได้
- ไม่อนุญาติให้ ใช้ท่า Heel Hook เด็ดขาดไม่ว่าระดับสายไหน รวมถึงการเอาขาไขว้เหนือหัวเข่าคู่ต่อสู้ จากด้านนอกเข้าด้านในอีกด้วย (ส่งผลเหมือนกับการบิดเข่าในท่า ฮีลฮุค
- ห้าม Slam (ยกขึ้นแล้วฟาดลง) คู่ต่อสู้ ไม่ว่่าจากตำแหน่งใดก็ตาม
- ห้ามใช้ท่าล๊อคประเภท Full nelson หรือ neck crank ซึ่งเป็นการบิดกระดูกคอและสันหลัง ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บที่คอได้
- ในระดับสายขาว ห้าม Jump guard (กระโดดใส่โคลสการ์ด) รวมถึง flying armbar, flying triangle เพื่อความปลอดภัยของนักกีฬา (เคยมีเหตุการณ์ เข่าหัก หรือล้มหัวฟาดจากเทคนิคประเภทนี้)

ADCC
- สามารถใช้ท่าล๊อคทั่วไปได้เหมือน IBJJF
- อนุญาติให้ใช้ท่าล๊อคขาได้ทุกท่า รวมถึงฮีลฮุค
- อนุญาติให้ Slam (ยกขึ้นและทุ่มลง) ได้ในกรณีที่คู่ต่อสู้พยายามทำซัมมิชชั่น
- ห้ามใช้ท่า full nelson หรือ crucifix เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อกระดูกคอ

จะเห็นได้ว่าความแตกต่างของกติกานี้ ทำให้รูปแบบการเล่นเปลี่ยนไป เช่น การไม่มีคะแนนในช่วงต้นของ ADCC จะทำให้นักกีฬา ไม่มีความกังวลต่อการเสียแต้ม มุ่งที่จะทำ ซับมิชชั่นมากขึ้น แต่ก็ทำให้คนนิยมลงไปนั่งเล่นการ์ดมากขึ้น เพราะไม่ต้องกลัวเสียแต้มจากการโดน sweep นั่นเอง อีกทั้งการอนุญาติให้ล็อคขาได้โดยไม่กำหนดรูปแบบ ก็ทำให้คนนิยมเล่นล็อคขากันมากขึ้นอีกด้วย

ส่วน กติกาหยุมหยิมของ IBJJF นั้นถูกกำหนดขึ้นก็เพื่อความปลอดภัยของตัวนักกีฬาเอง โดยเฉพาะในระดับสายขาว ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้เล่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคนที่พึ่งหัดใหม่ และผู้สูงอายุ จะรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักกีฬา และโค้ชควรจะศึกษาให้ดีเพื่อชิงความได้เปรียบในสนามแข่งขัน

บทความโดย ใบตองแห้ง

Comment