FIGHT & MARTIAL ARTS

10 สิ่งที่คุณอาจจะไม่รู้เกี่ยวกับ มวยไทย

06.02.2018

มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของชนชาติไทยมาตั้งแต่โบราณ ดังปรากฏในประวัติศาสตร์และพงศาวดารมาทุกยุคทุกสมัย นับเป็นศิลปะการต่อสู้ที่เก่าแก่ประเภทหนึ่งของโลก จากความสำคัญดังกล่าวมานี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนมวยไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในคุณค่าการยกย่ององค์ความรู้และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ในวันนี้แอดมินจะมาแนะนำเกี่ยวกับสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ มวยไทย ที่คนไทยอย่างคุณอาจจะไม่รู้ก็ได้

1.) มวยไทย ถูกเรียกว่า " ศาสตร์แห่งอาวุธทั้ง 9 " เพราะว่ามีการต่อสู้โดยใช้อาวุธบนร่างกาย 9 อย่าง ( นวอาวุธ ) คือ หมัด 2 / ศอก 2 / เข่า 2 / เท้า 2 และ หัว 1

2.) ปัจจุบันชาวต่างชาติ มักจะรู้จักมวยไทย ในนาม Art of Eight Limbs (ศาสตร์แห่งอาวุธทั้ง 8) เพราะ กติกามวยไทยปัจจุบัน ตัดการใช้หัวโขกออกไป และ ไปเรียก Lethwei (มวยพม่า) ว่าเป็น Art of Nine Limbs (ศาสตร์แห่งอาวุธทั้ง 9) แทน เพราะยังสามารถใช้หัวโขกได้

3.) มวยไทยในอดีต ใช้ คาดเชือก ในการพันมือเพื่อป้องกันการบาดเจ็บของมือ แต่กติกาไม่ได้กำหนดว่า ต้องคาดเชือกแต่อย่างใด นักสู้สามารถเข้าต่อสู้ โดยใช้มือเปล่าก็ได้

4.) สนามมวยแห่งแรกถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2462 คือ สนามมวยสวนกุหลาบ ซึ่งดำเนินการโดยประชาชน ภายในบริเวณวังสวนกุหลาบ

5.) สนามมวยราชดำเนิน หรือ เวทีมวยราชดำเนิน (Rajadumnern Stadium) นับเป็นเวทีมวยระดับมาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทยก่อตั้งขึ้นโดยดำริของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างขึ้น เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2484 แต่มาเสร็จสิ้นหลังสงครามสงบแล้ว ในปี 2488 และมีการแข่งขันนัดแรกในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2488 โดยระยะแรก สนามมวยราชดำเนิน ยังไม่มีหลังคามุง ต่อมา นายเฉลิม เชี่ยวสกุล ผู้จัดการสนามมวย ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและความไม่สะดวก จึงเสนอให้สร้างหลังคาคลุมพื้นที่ทั้งหมด ต่อมาในปี 2494 สนามมวยราชดำเนิน จึงแล้วเสร็จสมบูรณ์เป็นสนามมวยได้มาตรฐาน

6.) มวยไทยได้รับความนิยมในทุกชนชั้น ในประวัติศาสตร์ พระเจ้าเสือ ได้ปลอมพระองค์เป็นสามัญชน ออกไปชกมวยกับนักมวยฝีมือดีของอำเภอวิเศษไชยชาญ และสามารถชกชนะนักมวยเอกถึง ๓ คน ได้แก่ นายกลาง หมัดตาย นายใหญ่ หมัดเหล็ก และ นายเล็ก หมัดหนัก โดยทั้ง 3 คนได้รับความพ่ายแพ้อย่างบอบช้ำ

7.) ในหนังสือ “นักเรียนนายร้อยไทยในเยอรมันยุคไกเซอร์” สมัยรัชกาลที่ 5-6 คนไทยไปเรียนวิชาทหารที่เยอรมันกันหลายคน รุ่นหนึ่งมี แฮร์มัน เกอริง รวมอยู่ด้วย ต่อมาเขาก็คือ จอมพลเกอริง จอมเผด็จการอันดับ 2 รองจากฮิตเลอร์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เกอริงเป็นคนตัวใหญ่และชอบแกล้งเพื่อน เช่นชอบเอาถุงเท้าไปซ่อน ทำให้เพื่อนแต่งตัวไม่ทัน หรือแกล้งเอาถุงเท้าไปชุบน้ำให้ชื้น เอาไปใส่ตอนอากาศหนาว ถือว่าตัวใหญ่แกล้งใครก็แกล้งได้ แต่พอไปแกล้งเพื่อนไทยที่ไม่เกี่ยงเรื่องตัวใหญ่อยู่แล้วเลยได้เรื่อง ปล่อยหมัดตรงเข้าหน้าด้วยแรงโมโห ผลปรากฏว่าคนชกได้แผลแหวะที่โคนนิ้วกลาง ส่วนคนถูกชก ฟันหัก คนที่ชกก็คือ ขเด็ท หรือนักเรียนนายร้อย น้อม ศรีรัตน์ ซึ่งต่อมาก็คือ พลตรีพระศักดาพลรักษ์ นั่นเอง

8.) ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการจัดแข่งขันมวยคาดเชือกหน้าพระที่นั่ง ณ บริเวณหน้าพลับพลาทรงธรรม สวนมิสกวัน ในงานศพของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ในวันที่ 18 มีนาคม ร.ศ.128 (พ.ศ. 2452) โดยให้หัวเมืองทั่วประเทศคัดเลือกนักมวยฝีมือดีเข้าแข่งขัน นักมวยฝีมือดีชนะคู่ต่อสู้หลายคนเป็นที่พอพระราชหฤทัย ทรงโปรดฯ พระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ เป็น “ ขุนหมื่นครูมวย ” ถือศักดินา 300 จำนวน 3 คน คือ
นายปล่อง จำนงทอง จากเมืองไชยา เป็น “หมื่นมวยมีชื่อ”
นายกลึง โตสะอาด จากเมืองลพบุรี เป็น “หมื่นมือแม่นหมัด”
นายแดง ไทยประเสริฐ จากเมืองโคราช เป็น “หมื่นชงัดเชิงชก”

9.) นาย แพ เลี้ยงประเสริฐ นักมวยท่าเสา เมืองอุตรดิตถ์ ผู้ที่ชก นายเจีย พระตะบอง มวยฝีมือดีจากแถบชายแดนตะวันออก ด้วยการสืบทิ่มหมัดหงาย เข้าที่ลูกกระเดือกในท่า หนุมานถวายแหวน อันลือลั่น จนนายเจียถึงกับหมดสติ และสิ้นใจในเวลาต่อมา อันถือเป็นอุบัติเหตุ และเป็นเหตุการณ์สำคัญในยุค สนามมวยหลักเมือง (ร.7 พ.ศ. 2466-2472) ภายใต้กฎกติกาการชกมวยคาดเชือก ด้วยมีมาตราหนึ่งใน พระธรรมนูญลักษณะเบ็ดเสร็จ บทที่ 119 บัญญัติ ไว้ว่า "มาตรา ๑ ชนทั้งสองเป็นเอกจิตรเอกฉันท์ ตีมวยด้วยกันก็ดี แลปล้ำกันก็ดี และผู้หนึ่งต้องเจ็บปวดก็ดี โค่นหักถึงแก่มรณภาพก็ดี ท่านว่าหาโทษมิได้ อนึ่งผู้ยุยงก็ดี ผู้ตกรางวัลก็ดี ให้ปล้ำตีนั้น ผู้ยุหาโทษมิได้ เพราะผู้ยุนั้น จะได้มีจิตรเจตนาที่จะใคร่ ให้สิ้นชีวิตหามิได้ แต่จะใคร่ดูเล่นเป็นสุขภาพ เป็นกรรมของผู้ถึงมรณภาพเองแล…ฯ” เหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็น มูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กฎกติกามวย ตลอดจนมีการบังคับให้สวมนวมแบบสากล

10.) นำขบวน หนองกี่พาหุยุทธ และ แสนชัย ส.คิงสตาร์ 2 ยอดมวยไทย เคยขึ้นชกแบบ 2 รุม 1 ในกติกา คนแรกต่อยยก 1-3 คนที่ 2 ต่อยยก 4-5 โดย นำขบวน ต่อยกับ Manu Ntoh (ยก 1-3) และ Eddie Saban (ยก 4-5) ในปี 2539

แสนชัย ต่อยกับ นักมวยไทย เพชรบุญชู (ยก 1-3) และ สะเก็ดดาว (ยก 4-5) ในปี 2552

นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับภาคเอกชนที่ดำเนินการเกี่ยวกับมวยไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีมติเป็นเอกฉันท์ในการร่วมกันผลักดันให้มีการสถาปนาวันมวยไทยขึ้น โดยได้พิจารณาจากข้อเสนอต่าง ๆ อย่างรอบคอบ ซึ่งในที่สุดได้เห็นชอบให้วันขึ้นเสวยราชสมบัติของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (สมเด็จพระเจ้าเสือ) คือ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ เป็นวันมวยไทย (วันเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติตรงกับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2245) เนื่องจากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดเจน

สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถด้านมวยไทยเป็นที่ประจักษ์ คือ

1. สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่เสด็จออกไปชกมวยกับสามัญชน

2. สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีความสามารถเกี่ยวกับมวยไทยมาก ทรงคิดท่าแม่ไม้ ไม้กลมวยไทยขึ้นมาเป็นแบบฉบับเฉพาะพระองค์ เรียกว่า “มวยไทยตำรับพระเจ้าเสือ” และได้รับการถ่ายทอดเป็นตำรามวยไทยให้แก่คนรุ่นหลังจนถึงทุกวันนี้

3. สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เป็นพระมหากษัตริย์ที่ใช้ศิลปะมวยไทยในการปกป้องราชอาณาจักรให้รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของชาวต่างชาติ

ในการนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 กำหนดให้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันมวยไทย”

ที่มา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

ปล.ในข้อ 2 นั้นแอดมิน เห็นต่างไปจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ว่า มวยไทยตำหรับพระเจ้าเสือ โดย ยศ เรืองสา (ค่ายอาจารย์ เปลี่ยน สมชาติ) นั้น เป็นเพียงหนังสือที่รวบรวม กลไม้มวยไทย ที่มีอยู่เดิม มาตั้งชื่อตำรา เท่านั้น มิใช่ เป็นตำราที่พระเจ้าเสือแต่งไว้แต่อย่างใด

Comment